น้ำหมักชีวภาพ
หรือ EM
การใช้น้ำหมักชีวภาพอย่างถูกต้อง
น้ำหมักชีวภาพ ที่เรารู้จักกันในชื่อของ ปุ๋ยน้ำชีวภาพ ปุ๋ยชีวภาพ หรือ EM ก็คือการรวมเอาจุลินทรีย์กลุ่มสร้างสรรค์ที่มีอยู่ในธรรมชาติ
ให้มาอยู่รวมกันในที่ ๆ เดียว เพื่อที่เราจะได้นำไปใช้ประโยชน์ ในทางชีวภาพ
จุลินทรีย์กลุ่มสร้างสรรค์นี้ จะไปย่อยสลายอินทรียวัตถุที่อยู่ในดิน
ให้กลายเป็นโมเลกุลขนาดเล็ก เพื่อให้พืชสามารถดูดซึม และใช้เป็นอาหาร บำรุงลำต้น
บำรุงดอกผลได้
น้ำหมักชีวภาพ มี 2 ประเภท คือ
1. น้ำหมักชีวภาพจากพืช ทำได้โดยการนำเศษพืชสด
ผสมกันน้ำตาลทรายแดง หรือกากน้ำตาล อัตราส่วน 1 : 3 (กากน้ำตาล
1 ส่วน พืชผัก 3 ส่วน) หมักรวมกันในถังปิดฝา หมักทิ้งไว้ในที่ร่ม ไม่ให้โดนแสงแดด ประมาณ
3-7 วัน เราจะได้ของเหลวข้น ๆ สีน้ำตาล ซึ่งเราเรียกว่า น้ำหมักชีวภาพจากพืช
2. น้ำหมักชีวภาพจากสัตว์
มีขั้นตอนทำคล้ายกับน้ำหมักจากพืช แตกต่างกันตรงวัตถุดิบจากสัตว์ เช่น หัวปลา
ก้างปลา หอยเชอรี่ เป็นต้น
การใช้น้ำหมักชีวภาพ กับพืชไร่ พืชผัก
1. เมื่อเตรียมแปลงสำหรับปลูกเสร็จแล้ว ให้หว่านปุ๋ยหมักชีวภาพ
ประมาณ 2 กำมือ ต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร
2. เอาฟางคลุมแล้วรดด้วยน้ำหมักชีวภาพ (น้ำหมักแม่หรือน้ำหมักพ่อ)
ในอัตราส่วน 3 ช้อนแกงต่อน้ำ 10 ลิตร รดแปลงให้ชุ่มทิ้งไว้ 7 วัน แล้วจึงปลูกพืช
3. หลังปลูกพืชแล้วประมาณ 10 – 12
วัน ถ้าพืชไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควรให้เติมปุ๋ยหมักชีวภาพอีก
4. ควรรดน้ำหมักชีวภาพ ตามช่วงอายุการเจริญเติบโตของพืช สัปดาห์ละ 1 – 2
ครั้ง ในอัตราส่วนน้ำหมักชีวภาพ 3 ช้อนแกงต่อน้ำ 20 ลิตร
การใช้น้ำหมักชีวภาพ กับไม้ผล ไม้ยืนต้น
1. ใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพ 1 - 2 ก.ก. ผสมกับดินเดิม
คลุมด้วยฟาง รด ราด ด้วยน้ำหมักชีวภาพ 3 ช้อนแกงต่อน้ำ 10 ลิตร ทิ้งไว้ 7 วัน
จึงปลูกต้นไม้ได้
ไม้ผล ไม้ยืนต้นที่ปลูกแล้ว
2. หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตและตัดแต่งกิ่ง
ใส่ปุ๋ยหมักชีวภาพ 1 ก.ก. ต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร บริเวณรอบทรงพุ่มแล้วคลุมด้วยฟางแห้งหรือหญ้าแห้ง
ปีละ 2 ครั้ง
3. ราด รด ด้วยน้ำหมักชีวภาพ
เพื่อกระตุ้นการแตกยอดและใบใหม่ในอัตราน้ำหมักชีวภาพ 3 ช้อนแกงต่อน้ำ 20 ลิตร
เดือนละ 2 ครั้ง ตามช่วงอายุการเจริญเติบโตของพืช
4. เมื่อพืชติดดอก ติดผล
ควรเพิ่มการให้น้ำหมักชีวภาพ สูตร 2 , 3 เป็นเดือนละ 1 ครั้ง
หมายเหตุ
น้ำหมักชีวภาพควรใช้ในเวลาเช้าหรือเย็น ไม่ควรให้ถูกแสงแดดจัด
เก็บไว้ในร่มและไม่ควรใช้ร่วมกับสารเคมีทุกชนิด
การใช้ในการเลี้ยงสัตว์
น้ำหมักชีวภาพช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการย่อยสลายอาหาร เมื่อสัตว์ได้รับน้ำหมักชีวภาพ
โดยใส่ให้สัตว์กินในอัตราน้ำหมักชีวภาพ 1 ส่วน ต่อน้ำ 1,000 ส่วน (1 : 1,000)
จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการย่อยอาหารที่สัตว์กิน
ทำให้สัตว์ได้รับธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์มากขึ้น
สัตว์ปีก, สุกร
สัตว์ปีกและสุกรเป็นสัตว์กระเพาะเดี่ยว ไม่สามารถย่อยหญ้าได้ดีเท่าสัตว์เคี้ยวเอื้อง
เช่น วัว ควาย แต่น้ำหมักชีวภาพจะช่วยให้สัตว์ปีกและสุกร
สามารถย่อยหญ้าสดหรือพืชได้ดีขึ้น เป็นการประหยัดอาหารได้ถึง 30 %
สำหรับสัตว์ เคี้ยวเอื้อง
สัตว์เคี้ยวเอื้องจำพวก วัว
ควาย ปกติสามารถย่อยอาหารหลักจำพวกหญ้าสด หญ้าแห้งได้ดีอยู่แล้ว
เมื่อได้รับน้ำหมักชีวภาพ โดยใส่ในน้ำให้กินในอัตรา 1 : 1,000
หรือพรมลงบนหญ้าก่อนให้สัตว์กิน จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการย่อยอาหารได้สูงขึ้น