ความเป็นมาของจุลินทรีย์ EM

ความเป็นมาของจุลินทรีย์ EM

“จุลินทรีย์ หรือ จุลชีวัน หรือ จุลชีพ” (Microorganisms) เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็กมากๆ ซึ่งเราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ที่มีอัตราขยายเป็นล้านๆเท่าส่องดูถึงจะมองเห็นได้ เช่น แบคทีเรีย เชื้อรา และยีสต์ เป็นต้น ซึ่งจุลินทรีย์ต่างๆที่กล่าวมานี้จะมีอยู่ทั่วไปในทุสภาวะแวดล้อมหรือแม้กระทั่งในอากาศทั่วไปรอบๆตัวเรา และยังมีจุลินทรีย์บางชนิดที่สามารถปรับตัวอยู่ได้แม้กระทั่งในน้ำพุที่ร้อนจัดบริเวณภูเขาไฟใต้ทะเลลึก และยังปรับตัวอยู่ได้ถึงก้นมหาสมุทรที่มีความกดดันของน้ำสูงมากๆ หรือในน้ำแข็งที่เย็นจัดแถบขั้วโลกเหนือ และบางชนิดยังอยู่ได้ในสภาพพื้นที่ ที่มีความเป็นกรดด่างสูง หรือแม้กระทั่งในบริเวณที่ไม่มีก๊าซออกซิเจน
ความเป็นมาของจุลินทรีย์ EM
หน้าที่สำคัญของ “จุลินทรีย์”
หน้าที่หลักๆของจุลินทรีย์ก็คือ จะทำการย่อยสลายซากพืชซากสัตว์ต่างๆ ให้มีขนาดเล็กและกลายเป็นธาตุอาหารที่มีประโยชน์สำหรับพืชได้ และหน้าที่สำคัญของจุลินทรีย์ที่ว่านี้ก็คือ
- ทำหน้าที่ย่อยสลายซากวัสดุต่างๆ
- ทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงสารประกอบอินทรีย์ที่มีโครงสร้างซับซ้อน
ซึ่งจุลินทรีย์ในธรรมชาติส่วนใหญ่แล้วจะพบมากบริเวณป่าไผ่ และบนใบไม้ที่ทับถมกันอย่างแน่นหนาตามป่ารกชื้นต่างๆ ซึ่งเราจะสังเกตเห็นเชื้อราสีขาวๆอยู่ตามบริเวณดังกล่าว สำหรับในการเกษตรแล้ว ได้มีการนำจุลินทรีย์มาใช้ประโยชน์อย่างหลากหลาย เช่น นำมาทำน้ำหนักชีวภาพ ทำปุ๋ยหมัก หรือใช้ในกิจการปศุสัตว์ เป็นต้น

EM (Effective Microorganisms) หมายถึง “กลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ” ได้ศึกษาและค้นพบโดย ศาสตราจารย์ ดร. เทรูโอะ ฮิหงะ แห่งมหาวิทยาลัยริวกิว โอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งท่านได้ศึกษาค้นคว้าและทดลองตามแนวทางของท่านโมกิจิ โอกาดะ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 - 2525 และได้ค้นพบความจริงเกี่ยวกับวงจรชีวิตของจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในธรรมชาติ ดังนี้ครับ
จากการศึกษาและทดลองของ ดร. ทารูโอะ ฮิหงะ ได้ข้อสรุปว่า ทั้งจุลินทรีย์ที่ต้องการอากาศ (Aerobic Microorganisms) และจุลินทรีย์ที่ไม่ต้องการอากาศ (Anaerobic Microorganisms) ต่างก็ทำงานร่วมกันบ้างและก็ขัดแย้งกันบ้าง สามารถแบ่งออกได้ 3 กลุ่มหลักๆคือ
1. จุลินทรีย์กลุ่มที่มีประโยชน์ หรือกลุ่มสร้างสรรค์ มีประมาณ 5-10 %
2. จุลินทรีย์กลุ่มที่ก่อโรค หรือกลุ่มทำลาย มีประมาณ 5-10  %
3. จุลินทรีย์กลุ่มที่เป็นกลาง มีมากถึง 80-90 %

สำหรับจุลินทรีย์ 3 กลุ่มที่กล่าวมานี้ จะมีลักษณะการทำงานที่แตกต่างกันคือ ถ้ามีจุลินทรีย์กลุ่มสร้างสรรค์มากกว่ากลุ่มก่อโรค จะทำให้โลกของเราอยู่ในภาวะสร้างสรรค์ไปด้วย คือจะเป็นโลกที่สะอาด บริสุทธิ์ ไร้มลภาวะพิษ หรือโรคภัยต่างๆ แต่ในทางตรงกันข้าม หากโลกของเรามีจุลินทรีย์กลุ่มก่อโรคหรือกลุ่มทำลายมากกว่าจุลินทรีย์กลุ่มดีหรือกลุ่มสร้างสรรค์ ผลก็จะกลับเป็นตรงกันข้ามคือ โลกของเราจะเต็มไปด้วยมลภาวะที่เน่าเหม็น เกิดโรคระบาดอย่างต่อเนื่อง และสำหรับจุลินทรีย์กลุ่มสุดท้ายหรือกลุ่มกลางๆ ก็จะคอยสนับสนุนจุลินทรีย์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่มีจำนวนมากกว่า เพื่อเสริมประสิทธิภาพการทำงานให้ดียิ่งขึ้นนั่นเองครับ