สุดยอดฮอร์โมนจากยอดพืช

การทำ EM (น้ำหมักชีวภาพ) จากยอดพืช
EM (น้ำหมักชีวภาพ)
ในบทความนี้จะแนะนำการทำน้ำหมักชีวภาพจากยอดพืช ที่เรารู้จักกันดี และไม่ต้องซื้อหา เพราะเป็นวัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่น หรือบางทีอาจมีอยู่ในบริเวณบ้าน หรือในสวนของเราอยู่แล้วครับ
EM (น้ำหมักชีวภาพ) จากยอดพืช
 1. ยอดพืช (อะไรก็ได้) 4 กก. ยอดยูคาลิปตัส 1 กก. ยอดสะเดา 1 กก.
2. ถังพลาสติกขนาด 20 ลิตร
3. จุลินทรีย์อีเอ็ม 200 ซีซี (1 แก้ว)
4. กากน้ำตาล 200 ซีซี (1 แก้ว)
5. น้ำสะอาดประมาณ 15 ลิตร
วิธีทำ EM (น้ำหมักชีวภาพ) จากยอดพืช
1. เก็บยอดพืชตั้งแต่ตอนเช้าตรู่ 6 กิโลกรัม (ฮอร์โมนใช้ในการปลูกพืชผักสวนครัว ใช้ยอดผักบุ้ง ยอดพืชตระกูลถั่ว ฯลฯ ฮอร์โมนใช้กับไม้ผล ใช้ยอดมะม่วง ขนุน ฯลฯ ฮอร์โมนใช้ในนาข้าวใช้ยอดหญ้าใบข้าว ใบไผ่ ฯลฯ) แล้วนำยอดพืชล้างให้สะอาดบรรจุลงในถัง
2. เติม EM (น้ำหมักชีวภาพ) และกากน้ำตาลอย่างละ 1 แก้ว
3. เติมน้ำสะอาดลงในถังเกือบเต็ม เหลือให้มีช่องอากาศประมาณ 4 ซม. ใช้พลาสติกปิดปากถังแล้วเอายางรัดไม่ให้อากาศเข้าได้ ตั้งไว้ในที่ร่มไม่ให้โดนแสงแดด หมักไว้ครบ 10 วัน บรรจุลงขวดประมาณ 1 ลิตรได้ประมาณ 15 ขวด น้ำหมักที่ได้จะมีอายุการเก็บรักษาได้ 3 เดือน
วิธีใช้ EM (น้ำหมักชีวภาพ) จากยอดพืช
1. นำฮอร์โมนยอดพืช 40 ซีซี (4 ช้อนโต๊ะ) ผสมกับน้ำ 20 ลิตร (1 ปี๊บ) รดฉีด หรือพ่นตามถนัด
2. สำหรับพืชผักสวนครัว ให้รดหรือฉีดพ่นสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
3. สำหรับไม้ผล ไม้ยืนต้น รดหรือฉีดพ่นทุกๆ 30 วัน หลังเก็บเกี่ยวช่วงไม้ผลออกดอกห้ามฉีด ไม้ผลที่ดอกยังไม่บานฉีดพ่นได้
4. EM (น้ำหมักชีวภาพ) ที่ดีต้องมีกลิ่นหอมอมเปรี้ยว และมีราสีขาวอยู่ผิวหน้า หากฮอร์โมนมีกลิ่นเหม็นห้ามนำมาใช้กับพืช เพราะจะทำให้พืชตายได้
วัสดุที่ใช้แทนกากน้ำตาล
ในกรณีที่เราไม่มีกากน้ำตาล หรือไม่ใช้กากน้ำตาล ก็สามารถใช้วัสดุเหล่านี้แทนได้ครับ
-  จุลินทรีย์ 1 ช้อน + น้ำอ้อย 2 ก้อน + น้ำ 10 ลิตร
-  จุลินทรีย์ 1 ช้อน + น้ำซาวข้าว 4 แก้ว + น้ำ 10 ลิตร
-  จุลินทรีย์ 1 ช้อน + นมข้นหวาน 2 ช้อน + น้ำ 10 ลิตร
-  จุลินทรีย์ 1 ช้อน + น้ำเปรี้ยว 2 ช้อน + น้ำ 10 ลิตร
-  จุลินทรีย์ 1 ช้อน + น้ำปัสสาวะ 1 แก้ว + น้ำ 10 ลิตร
ผลดีจากการใช้ EM (น้ำหมักชีวภาพ)           
1. ดินโปร่งร่วนซุย หากใช้ติดต่อกัน 3 - 4 ปี
2. ทำให้สัตว์น้ำประเภทต่างๆ เช่น กบ เขียด กุ้ง หอย ปู ปลา ฯลฯ กลับคืนมาเหมือนเดิม
3. ให้ลดปริมาณปุ๋ยหมักจุลินทรีย์ลงในปีที่ 3 - 4 และ 5 ประมาณปีละ 15 % แต่ผลผลิตจะคงที่หรือสูงขึ้นเรื่อยๆ
4. หากใช้ในนาข้าว โรคของต้นข้าวจะหมดไป ในปีที่ 2,3 และ4
5. สามารถลดค่าใช้จ่าย เพราะเกษตรกรสามารถผลิตปุ๋ยได้เอง โดยการทำเกษตรแบบยั่งยืน และพึ่งพาตนเองได้