สู่ตรทำน้ำหมักแม่ เพิ่มธาตุอาหารในดิน

สูตรการทำ “น้ำหมักแม่” เพิ่มธาตุอาหารในดิน

สำหรับ “น้ำหมักชีวภาพ” สูตรนี้ ถือว่าเป็นสูตรน้ำหมักชีวภาพที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในหมู่ปราชญ์ชาวบ้านและคนทำเกษตรโดยทั่วไป เป็นน้ำหมักชีวภาพที่มีคุณสมบัติที่โดดเด่นทางด้านการปรับปรุงบำรุงดิน เพิ่มธาตุอาหารให้กับพืช ด้วยกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพสูง และที่สำคัญเป็นสารชีวภาพที่ปลอดสารพิษ 100 เปอร์เซ็นต์..ทำได้ง่ายๆด้วยวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น ดังนี้ครับ

วัตถุดิบสำหรับทำ “น้ำหมักชีวภาพ” สูตรน้ำหมักแม่ มีดังนี้

- หน่อกล้วยที่ขุดมาทั้งราก สับให้ละเอียด        6 กิโลกรัม
- หน่อไม้สดไม่ต้องแกะเปลือกออก สับละเอียด 6 กิโลกรัม
- พืชสดทุกอย่าง เช่น ผักตบชวา จอก แหน      6 กิโลกรัม
- กากน้ำตาล 6 ลิตร
- สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 (ขอฟรีได้ที่กรมพัฒนาที่ดิน) 1 ซอง
- น้ำฝนหรือน้ำประปาที่ไม่มีคลอรีน 5 ลิตร
- ถังพลาสติกที่มีฝาปิด (สำหรับหมัก) 1 ใบ

หน่อกล้วยสำหรับทำ "น้ำหมักชีวภาพ"
วิธีทำ: ก่อนอื่นให้ละลายกากน้ำตาลและสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 กับน้ำผสมลงในถัง คนให้ละลายเข้ากันประมาณ 10 นาที จากนั้นให้ใส่หน่อกล้วยและหน่อไม้สับลงไป ปิดฝาไม่ต้องสนิท ตั้งหมักไว้ในที่ร่มไม่ให้โดนแสงแดดประมาณ 15-20 วัน จะสังเกตเห็นกลุ่มราสีขาวลอยอยู่เหนือผิวน้ำหมัก ถือว่าใช้ได้ครับ


การใช้ประโยชน์: สำหรับฉีดพ่นทางใบจะใช้ประมาณ 10 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นพืชผักหรือผลไม้ตอนเช้า ช่วงที่ไม่มีแสงแดดหรือช่วงที่มีแสงแดดอ่อนๆ หรือจะผสมน้ำรดพืชผัก ในอัตราส่วน 10 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร จะช่วยบำรุงราก บำรุงลำต้น ตลอดจนดอกผลต่างๆ ทำให้พืชแข็งแรงต้านทานโรค อีกทั้งยังช่วยปรับปรุงโครงสร้างของดิน ทำให้ดินอุดมไปด้วยธาตุอาหาร และดินปลูกของเรายังร่วนซุยขึ้นอีกด้วย ลองทำดูครับ

ความเป็นมาของจุลินทรีย์ EM

ความเป็นมาของจุลินทรีย์ EM

“จุลินทรีย์ หรือ จุลชีวัน หรือ จุลชีพ” (Microorganisms) เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็กมากๆ ซึ่งเราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ที่มีอัตราขยายเป็นล้านๆเท่าส่องดูถึงจะมองเห็นได้ เช่น แบคทีเรีย เชื้อรา และยีสต์ เป็นต้น ซึ่งจุลินทรีย์ต่างๆที่กล่าวมานี้จะมีอยู่ทั่วไปในทุสภาวะแวดล้อมหรือแม้กระทั่งในอากาศทั่วไปรอบๆตัวเรา และยังมีจุลินทรีย์บางชนิดที่สามารถปรับตัวอยู่ได้แม้กระทั่งในน้ำพุที่ร้อนจัดบริเวณภูเขาไฟใต้ทะเลลึก และยังปรับตัวอยู่ได้ถึงก้นมหาสมุทรที่มีความกดดันของน้ำสูงมากๆ หรือในน้ำแข็งที่เย็นจัดแถบขั้วโลกเหนือ และบางชนิดยังอยู่ได้ในสภาพพื้นที่ ที่มีความเป็นกรดด่างสูง หรือแม้กระทั่งในบริเวณที่ไม่มีก๊าซออกซิเจน
ความเป็นมาของจุลินทรีย์ EM
หน้าที่สำคัญของ “จุลินทรีย์”
หน้าที่หลักๆของจุลินทรีย์ก็คือ จะทำการย่อยสลายซากพืชซากสัตว์ต่างๆ ให้มีขนาดเล็กและกลายเป็นธาตุอาหารที่มีประโยชน์สำหรับพืชได้ และหน้าที่สำคัญของจุลินทรีย์ที่ว่านี้ก็คือ
- ทำหน้าที่ย่อยสลายซากวัสดุต่างๆ
- ทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงสารประกอบอินทรีย์ที่มีโครงสร้างซับซ้อน
ซึ่งจุลินทรีย์ในธรรมชาติส่วนใหญ่แล้วจะพบมากบริเวณป่าไผ่ และบนใบไม้ที่ทับถมกันอย่างแน่นหนาตามป่ารกชื้นต่างๆ ซึ่งเราจะสังเกตเห็นเชื้อราสีขาวๆอยู่ตามบริเวณดังกล่าว สำหรับในการเกษตรแล้ว ได้มีการนำจุลินทรีย์มาใช้ประโยชน์อย่างหลากหลาย เช่น นำมาทำน้ำหนักชีวภาพ ทำปุ๋ยหมัก หรือใช้ในกิจการปศุสัตว์ เป็นต้น

EM (Effective Microorganisms) หมายถึง “กลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ” ได้ศึกษาและค้นพบโดย ศาสตราจารย์ ดร. เทรูโอะ ฮิหงะ แห่งมหาวิทยาลัยริวกิว โอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งท่านได้ศึกษาค้นคว้าและทดลองตามแนวทางของท่านโมกิจิ โอกาดะ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 - 2525 และได้ค้นพบความจริงเกี่ยวกับวงจรชีวิตของจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในธรรมชาติ ดังนี้ครับ
จากการศึกษาและทดลองของ ดร. ทารูโอะ ฮิหงะ ได้ข้อสรุปว่า ทั้งจุลินทรีย์ที่ต้องการอากาศ (Aerobic Microorganisms) และจุลินทรีย์ที่ไม่ต้องการอากาศ (Anaerobic Microorganisms) ต่างก็ทำงานร่วมกันบ้างและก็ขัดแย้งกันบ้าง สามารถแบ่งออกได้ 3 กลุ่มหลักๆคือ
1. จุลินทรีย์กลุ่มที่มีประโยชน์ หรือกลุ่มสร้างสรรค์ มีประมาณ 5-10 %
2. จุลินทรีย์กลุ่มที่ก่อโรค หรือกลุ่มทำลาย มีประมาณ 5-10  %
3. จุลินทรีย์กลุ่มที่เป็นกลาง มีมากถึง 80-90 %

สำหรับจุลินทรีย์ 3 กลุ่มที่กล่าวมานี้ จะมีลักษณะการทำงานที่แตกต่างกันคือ ถ้ามีจุลินทรีย์กลุ่มสร้างสรรค์มากกว่ากลุ่มก่อโรค จะทำให้โลกของเราอยู่ในภาวะสร้างสรรค์ไปด้วย คือจะเป็นโลกที่สะอาด บริสุทธิ์ ไร้มลภาวะพิษ หรือโรคภัยต่างๆ แต่ในทางตรงกันข้าม หากโลกของเรามีจุลินทรีย์กลุ่มก่อโรคหรือกลุ่มทำลายมากกว่าจุลินทรีย์กลุ่มดีหรือกลุ่มสร้างสรรค์ ผลก็จะกลับเป็นตรงกันข้ามคือ โลกของเราจะเต็มไปด้วยมลภาวะที่เน่าเหม็น เกิดโรคระบาดอย่างต่อเนื่อง และสำหรับจุลินทรีย์กลุ่มสุดท้ายหรือกลุ่มกลางๆ ก็จะคอยสนับสนุนจุลินทรีย์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่มีจำนวนมากกว่า เพื่อเสริมประสิทธิภาพการทำงานให้ดียิ่งขึ้นนั่นเองครับ

น้ำหมักมูลไก่ สูตรเร่งการเจริญเติบโต

น้ำหมักมูลไก่ สูตรเร่งการเจริญเติบโต       

น้ำหมักชีวภาพ
น้ำสกัดชีวภาพ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “น้ำหมักชีวภาพ” หรือน้ำ EM เป็นน้ำสกัดที่ได้จากการย่อยสลายเศษวัสดุเหลือใช้จากส่วนต่างๆของพืชหรือสัตว์ โดยผ่านกระบวนการหมักในสภาวะไร้ออกซิเจน และจะมีจุลินทรีย์กลุ่มสร้างสรรค์เป็นตัวย่อยสลายเศษวัสดุต่างๆที่เรานำมาใช้หมัก ส่วนประโยชน์ที่ได้จาก “น้ำหมักชีวภาพ” นี้ จะใช้เป็นปุ๋ยเสริมให้แก่พืช คือจะช่วยเสริมธาตุอาหารในขณะที่พืชกำลังเจริญเติบโต ซึ่งในน้ำหมักชีวภาพที่ว่านี้ จะให้ทั้งธาตุอาหารเสริมและจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์สำหรับพืช และในบทความนี้จะแนะนำสูตรน้ำหมักชีวภาพที่หมักจากมูลไก่ แต่ก่อนอื่นต้องทำปุ๋ยหมักมูลไก่ก่อน..มีรายละเอียดดังนี้ครับ

วัตถุดิบในการทำ “ปุ๋ยหมักมูลไก่” มีดังนี้
-  รำละเอียด 60 กิโลกรัม
-  มูลไก่ไข่   40 กิโลกรัม
-  สารเร่งซุปเปอร์ พด.1 จำนวน 1 ซอง (ขอได้ที่กรมพัฒนาที่ดิน หรือติดต่อหมอดินอาสาใกล้บ้าน)

ขั้นตอนการทำ “ปุ๋ยหมักมูลไก่” สูตรเร่งการเจริญเติบโต
1. นำรำละเอียดและมูลไก่มาผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน วางกองไว้ในที่ร่ม ไม่ให้โดนแสงแดด เช่นร่มต้นไม้ หรือร่มชายคาเป็นต้น
2. นำสารเร่งซุปเปอร์ พด.1 ผสมกับน้ำ 20 ลิตร กวนผสมให้เข้ากันในถัง ซึ่งจะใช้เวลากวนประมาณ 15-20 นาที
3. ราดหัวเชื้อสารเร่งซุปเปอร์ พด.1 ที่ละลายดีแล้วลงไปที่กองปุ๋ยหมัก (รำและมูลไก่ที่เตรียมไว้) ครั้งละน้อย จากนั้นให้ใช้จอบหรือพลั่วผสมให้เข้ากัน ให้ได้ความชื้นที่ 60 เปอร์เซ็นต์ สามารถทดสอบความชื้นได้ โดยการใช้มือกำวัสดุหมักพอตึง แล้วคลายมือออก หากวัสดุหมักจับตัวกันเป็นก้อนโดยไม่แตก เป็นอันใช้ได้ จากนั้นให้เอากระสอบผ่านคลุมกองปุ๋ยหมักไว้ได้เลยครับ

การดูแลกองปุ๋ยหมัก
สำหรับการดูแลกองปุ๋ยหมักในระยะแรกๆ ให้กลับกองปุ๋ยหมักทุกวันเป็นเวลา 7 วัน หากเห็นว่ากองปุ๋ยหมักแห้งเกินไป ให้รดด้วยน้ำหมักชีวภาพและทุกครั้งที่กลับกองแล้ว ก็ให้คลุมกองปุ๋ยหมักไว้อย่างเดิม และในช่วงนี้จะสังเกตเห็นราขาวๆขึ้นบริเวณกองปุ๋ยหมัก นั่นก็แสดงว่ามีกระบวนการทำงานของจุลินทรีย์เกิดขึ้นแล้ว และเป็นปุ๋ยหมักที่สมบูรณ์ ให้เกลี่ยกองปุ๋ยหมักเพื่อระบายความร้อนออก จากนั้นเตรียมทำ “น้ำหมักชีวภาพ” ที่หมักจากมูลไก่ ดังนี้ครับ

“น้ำหมักมูลไก่” สูตรเร่งการเจริญเติบโต มีขั้นตอนทำง่ายๆ ดังนี้
- นำปุ๋ยหมักแห้ง (ปุ๋ยหมักมูลไก่) 1 กิโลกรัม ผสมน้ำ 20 ลิตร กากน้ำตาล 1 ลิตร ผสมรวมกันในถังพลาสติก ปิดฝาตั้งไว้ในที่ร่ม คนทุกเช้าเย็นเป็นเวลา 7 วัน จะเกิดราขาวจำนวนมากบริเวณผิวน้ำหมัก แสดงว่าเป็นน้ำหมักที่สมบูรณ์ สามารถนำไปใช้ได้เลยครับ

การใช้ประโยชน์จาก “น้ำหมักชีวภาพ”

สำหรับ “น้ำหมักชีวภาพ” สูตรนี้ ก่อนที่จะนำไปใช้ให้ผสมกับน้ำประมาณ 20-40 เท่า แล้วนำไปรดต้นพืช หรือจะฉีดพ่นทางใบ จะทำให้พืชเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว มีผลดก และยังสามารถป้องกันโรคพืชได้ด้วย ส่วนปุ๋ยหมักที่เหลือสามารถนำไปใส่แปลงปลูก หรือใส่รอบโคนต้นไม้ได้เลยครับ 

น้ำหมักกรดแลคติก ปรับปรุงสภาพดินให้ดีขึ้นได้

น้ำหมักกรดแลคติก ปรับปรุงสภาพดินให้ดีขึ้นได้

น้ำหมักชีวภาพ
สำหรับ “น้ำหมักชีวภาพ” ที่นำมาฝากเกษตรกรในวันนี้ เป็นสูตรการทำหัวเชื้อของ “น้ำหมักกรดแลคติก” ซึ่งถูกจัดว่าเป็นสารชีวภาพที่สามารถปรับปรุงดินให้ร่วนซุยได้อย่างดี อีกทั้งยังช่วยป้องกันการเสื่อมสภาพในกองปุ๋ยหมักได้อีกด้วย มีสูตรทำดังนี้ครับ

วัตถุดิบสำหรับทำ “น้ำหมักกรดแลคติก” มีดังนี้
- นมสด 10 ลิตร
- น้ำซาวข้าวที่หมักกับกากน้ำตาลไว้ 7 วัน 1 ลิตร (อัตราส่วน 1:3)
- กากน้ำตาล 3 ลิตร
- ถังพลาสติกที่มีฝาปิด (สำหรับหมัก)

วิธีทำน้ำหมักชีวภาพสูตร “น้ำหมักกรดแลคติก” มีขั้นตอนดังนี้
1.นำน้ำซาวข้าวที่หมักไว้ 7 วัน นมสด และกากน้ำตาล 1.5 ลิตร ผสมลงในถังพลาสติกที่เตรียมไว้ คนให้เข้ากันปิดฝาให้สนิทแต่ไม่ต้องแน่น แล้วตั้งหมักในที่ร่มต่ออีก 7 วัน
2. แยกไขมันที่อยู่ด้านบนออก แล้วนำไปผสมกับกากน้ำตาลที่เหลือ หมักต่อในที่ร่มอีก 7 วัน ก็สามารถนำไปใช้ได้เลย

การใช้ประโยชน์น้ำหมักชีวภาพสูตร “น้ำหมักกรดแลคติก”

เกษตรกรสามารถนำไปผสมกับน้ำเปล่าในอัตราส่วน 1: 500 ราดลงดินได้เลย จะทำให้ดินบริเวณดังกล่าวเกิดการ่วนซุยและโปร่งขึ้น หรือจะนำไปรดพืชผักก็จะทำให้พืชมีใบสีเขียว ลำต้นและรากแข็งแรง ป้องกันโรคพืชได้ และที่สำคัญหากเราใช้รดพืชผักเป็นประจำ จะทำให้ดินบริเวณดังกล่าวเกิดการร่วนซุย กลายเป็นดินที่มีธาตุอาหารสมบูรณ์ เนื่องจากมีการย่อยสลายอินทรียวัตถุต่างๆให้กลายเป็นธาตุอาหารที่มีประโยชน์สำหรับพืช ของเหล่าจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในน้ำหมักชีวภาพนั่นเองครับ

น้ำหมักชีวภาพ “สูตรข้าวกล้อง” ป้องกันเพลี้ย

น้ำหมักชีวภาพ “สูตรข้าวกล้อง” ป้องกันเพลี้ย

น้ำหมักชีวภาพ
“น้ำหมักชีวภาพ” สูตรหมักจากข้าวกล้อง ที่ว่านี้ มีคุณสมบัติพิเศษที่ได้รับการยืนยันจากปราชญ์ชาวบ้านหลายท่าน ว่าสามารถควบคุมการระบาดของเพลี้ย ป้องกันโรคจากเชื้อแบคทีเรียในพืชตระกูลแตงและมะเขือเทศได้ สำหรับเกษตรผู้สนใจก็เตรียมอุปกรณ์และลงมือทำได้เลยครับ
น้ำหมักชีวภาพ “สูตรข้าวกล้อง” ป้องกันเพลี้ย
วัตถุดิบสำหรับทำน้ำหมักชีวภาพ “สูตรข้าวกล้อง” มีดังนี้
- ข้าวกล้องหุงสุก 3 กิโลกรัม
- น้ำตาลทรายแดง หรือกากน้ำตาล     6 กิโลกรัม
- แป้งเหล้า         3 ลูก
- น้ำเปล่า         15 ลิตร
- ถังพลาสติกที่มีฝาปิด (สำหรับหมัก)

วิธีทำน้ำหมักชีวภาพ “สูตรข้าวกล้อง” มีรายละเอียดดังนี้
- อันดับแรกให้นำข้าวกล้องที่หุงสุกแล้ว คลุกเคล้ากับแป้งเหล้าที่บดละเอียดขณะอุ่นๆ หมักทิ้งไว้ในถังพลาสติกที่มีฝาปิด ตั้งไว้ในที่ร่ม 3 วัน จากนั้นให้เติมน้ำเปล่า 15 ลิตร และเติมน้ำตาลทรายแดงหรือกากน้ำตาล 6 กิโลกรัม คนให้เข้ากัน หมักต่ออีก 15 วัน เป็นอันใช้ได้ครับ

วิธีใช้: ก่อนอื่นให้เราน้ำน้ำหมักที่ได้มากรองเอาแต่น้ำ ก็สามารถนำไปใช้ได้เลย ส่วนกากเรายังสามารถนำไปใส่รอบๆโคนต้นไม้เป็นปุ๋ยได้ หากจะใช้รดพืชผักทั่วไปให้ใช้ 15 -20 ซีซี/น้ำ 20 ลิตรผสมลงในบัวรดน้ำแล้วรดพืชผักได้เลย หรือจะใช้ในปริมาณ 10-15 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทางใบก็ได้ และสำหรับน้ำหมักสูตรนี้หากใช้บำรุงต้นข้าวก็จะทำให้ข้าวมีรวงโต เม็ดเต็ม สมบูรณ์ และยังสามารถป้องกันโรคข้าวได้ด้วยครับ

ที่มา: กองนโยบายเทคโนโลยีเพื่อการเกษตร

น้ำหมักชีวภาพ “สูตรน้ำซาวข้าว” บำรุงต้นพืช

น้ำหมักชีวภาพ “สูตรน้ำซาวข้าว” บำรุงต้นพืช

น้ำหมักชีวภาพ

สำหรับน้ำหมักชีวภาพสูตรนี้ สามารถนำไปใช้บำรุงพืชผักทั่วไป โดยการผสมน้ำรด หรือจะฉีดพ่นทางใบ ก็จะทำให้พืชเจริญเติบโตได้เร็ว มีความแข็งแรง สมบูรณ์โดยไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมี
น้ำหมักชีวภาพ “สูตรน้ำซาวข้าว” บำรุงต้นพืช
ส่วนผสมสำหรับทำ “น้ำหมักชีวภาพ” สูตรน้ำซาวข้าว

- น้ำซาวข้าว (น้ำที่แช่จากข้าวเหนียว) 30 ลิตร
- กากน้ำตาล หรือน้ำตาลทรายแดง       1 ลิตร
- ถังพลาสติกที่มีฝาปิด (สำหรับหมัก)

วิธีทำ “น้ำหมักชีวภาพ” สูตรน้ำซาวข้าว มีขั้นตอนดังนี้

- นำน้ำซาวข้าวมาผสมกับกากน้ำตาล คนให้เข้ากัน หมักไว้ในถังพลาสติกปิดฝา (แง้ม) ตั้งไว้ในที่ร่ม ไม่ให้โดนแสงแดดประมาณ 10-15 วันก็ใช้ได้ครับ

สมุนไพรป้องกันกำจัดโรคแมลงศัตรูพืช (แบบผสม)

สารสกัดสมุนไพรป้องกันกำจัดโรคแมลงศัตรูพืช (แบบผสม)

สะเดา เลี่ยน : ใบสะเดาแก่สด 5 กก. + ใบเลี่ยนแก่สด 5 กก. บดป่นแช่น้ำพอท่วมนาน 24 ชม. ได้หัวเชื้อ อัตราใช้ หัวเชื้อ 1-2 กระป๋องนม/น้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วทรงพุ่มทุก 3-5 วัน ศัตรูพืช กลุ่มเดียวกันกับสะเดา แต่มีประสิทธิภาพสูงกว่าเพราะมีสารจากใบเลี่ยนมาเสริมฤทธิ์

สะเดา เลี่ยน ดาวเรือง บอระเพ็ด ลูกเหม็น 
: ใบสะเดาแก่สด 1 กก. + ลูกสะเดาแก่สด ½ กก. + ดอกดาวเรืองสด ½ กก. บดป่นหรือสับเล็ก + น้ำพอท่วม ต้มจนเดือด 2-3 ชม. ปล่อยให้เย็นแล้ว + เถาบอระเพ็ดแก่สด ½ กก. + น้ำ 20 ลิตร แช่นาน 3 วันได้หัวเชื้อ อัตราใช้ หัวเชื้อ 1 ลิตร + ลูกเหม็น 1-2 ลูก + น้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วทรงพุ่มทุก 3-5 วัน ศัตรูพืช แมลงศัตรูพืชในพืชตระกูลถั่ว เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ

สะเดา ข่า ตะไคร้หอม 
: ใบสะเดาแก่สด 5 กก. + ข่าแก่สด + ตะไคร้หอมทุกส่วนแก่สด 5 กก. บดละเอียดแช่น้ำ 20 ลิตร นาน 24 ชม. ได้หัวเชื้อ อัตราใช้ หัวเชื้อ 10-20 ซีซี./น้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วทรงพุ่มทุก 3-5 วัน ศัตรูพืช แม่ผีเสื้อ/ตัวหนอนแก้ว หนอนชอนใบ เพลี้ยแป้ง โรคราดำ ราแอนแทรกโนส โรครากเน่าโคนเน่า … พืชที่ได้ผล เช่น ส้มเขียวหวาน ส้มโอ หน่อไม้ฝรั่ง บัวหลวง

สะเดา ยาสูบ หางไหล ตะไคร้หอม : ใบสะเดาแก่สด 5 กก. + ใบยาสูบแก่สด 1 กก. + หางไหล 1 กก. + ตะไคร้หอมแก่สดทุกส่วน ½ กก. บดละเอียด + เหล้าขาว 750 ซีซี. + หัวน้ำส้มสายชู 150 ซีซี. + น้ำ 20 ลิตร หมักนาน 3-5 วันได้หัวเชื้อ อัตราใช้ หัวเชื้อ 30-50 ซีซี./น้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วทรงพุ่มทุก 3-5 วัน ศัตรูพืช ไล่แมลงทำให้ไข่แมลงฝ่อ กำจัดหนอนและโรคได้หลายชนิด

พริก พริกไทย ดีปลี 
: พริกสดเผ็ดจัด 1 กก. + พริกไทยผลสด 1 กก. + ดีปลีสด 1 กก. บดละเอียดแช่น้ำ 20 ลิตร นาน 24 ชม. ได้หัวเชื้อ อัตราใช้ หัวเชื้อ 200-500 ซีซี./น้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วทรงพุ่มทุก 3-5 วัน ศัตรูพืช มด เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ หนอนคืบ หนอนใย ไล่แมลงผีเสื้อ ไวรัส(ใบด่าง/ใบลาย)

สาบเสือ แค กระเทียม ตะไคร้หอม ข่า สะเดา 
: ใบสาบเสือแก่สด 1 กก. + เปลือกต้นแคสด 1 กก. + กระเทียมสด ½ กก. + ตะไคร้หอม 1 กก. + ใบสะเดาแก่สด 5 กก. บดปั่น + เหล้าขาว 1 ขวด(750ซีซี.) + หัวน้ำส้มสายชู 750 ซีซี. + น้ำ 40-60 ลิตร หมักนาน 3-5 วันได้หัวเชื้อ อัตราใช้ หัวเชื้อ 30-50 ซีซี./น้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วทรงพุ่มทุก 3-5 วัน ศัตรูพืช โรคเกิดจากเชื้อรา(ใบไหม้ ใบจุด ใบเน่า) โรคทางดิน(รากเน่า โคนเน่า เน่าคอดิน) เพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง หนอนต่างๆ

ตะไคร้หอม/แกง ขิง ข่า พริก น้อยหน่า หางไหล หนอนตายหยาก 
: อย่างละเท่าๆ กันแก่สดบดละเอียด แช่น้ำพอท่วม (ใส่เหล้าขาว + หัวน้ำส้มสายชู ตามความเหมาะสม) แช่นาน 3-5 วันได้หัวเชื้อ อัตราใช้ หัวเชื้อ 30-50 ซีซี./น้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วทรงพุ่ม ร่วมกับใบ/เมล็ดน้อยหน่าแก่แห้ง + ตะไคร้หอมแก่แห้ง + ยาฉุน อย่างละเท่าๆ กัน บดปั่น หว่านลงพื้นรอบๆ โคนต้น ศัตรูพืช หมัดกระโดด

ยาสูบ ยาฉุน 
: ใบ/ต้นแก่สด 1 กก. + ยาฉุน ½ กก. บดละเอียดแช่น้ำ 2 ลิตร นาน 24 ชม. หรือต้ม 1 ชม. ได้หัวเชื้อ อัตราใช้ หัวเชื้อที่ได้/น้ำ 60 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วทรงพุ่มทุก 3-5 วัน ศัตรูพืช เพลี้ยต่างๆ ไร รา ด้วงหมัดผัก ด้วงเจาะสมอ หนอนคืบกะหล่ำ หนอนเจาะยอด/ใบ/ต้น/ดอก หนอนม้วนใบ และไล่แมลง